ด้านวิศวกรรม

การประกันภัยทุกชนิดสำหรับผู้รับเหมา  

กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมา สามารถแบ่งความคุ้มครองออกได้เป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

ส่วนที่1) เป็นความคุ้มครองในส่วนทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เช่น
ตัวอาคาร, โครงสร้างต่างๆ รวมถึงสามารถขยายความคุ้มครองต่อตัวอาคาร หรือทรัพย์สินเดิมของผู้ว่าจ้างที่สร้างเสร็จแล้วที่อยู่ในโครงการ ซึ่งความคุ้มครองจะเป็นประเภทความเสี่ยงภัยทุกชนิดแต่จะระบุเป็นข้อยกเว้นต่างๆเช่น การเสื่อมสภาพของตัวทรัพย์สินเอง การหมดอายุ เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ สนิม การออกแบบ ผิดพลาด ความเสียหายจากฝีมือแรงงาน สงคราม การก่อการร้าย เป็นต้น

ส่วนที่2) คุ้มครองเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ของผู้รับเหมาที่ใช้ในการก่อสร้าง

ส่วนที่3) คุ้มครองความรับผิดตามกฏหมายของผู้รับเหมาต่อบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายในด้านทรัพย์สิน บาดเจ็บ อนามัย หรือเสียชีวิต

ซึ่งผลประโยชน์จากการซื้อกรมธรรม์ประเภทนี้ ผู้รับเหมาสามารถโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกันภัยโดยจะรับผิดชอบเฉพาะความรับผิดส่วนแรก (Deductible) เท่านั้น และสามารถนำผู้รับเหมาย่อยทุกราย และ/หรือผู้ว่าจ้างรวมเป็นผู้เอาประกันภัยด้วยกันได้

ตัวอย่างงานก่อสร้างที่สามารถซื้อความคุ้มครองกรมธรรม์ประเภทนี้ได้ ได้แก่

  • ถนน, ทางรถไฟ, สนามบิน, อุโมงค์, สะพาน
  • อาคาร (พักอาศัย, สำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า, สนามกีฬา, โรงงาน)
  • เขื่อน, โรงผลิตไฟฟ้า
  • ไซโล, โรงสี, โกดัง
  • ฯลฯ

การประกันภัยงานติดตั้งเครื่องจักร  

โครงการงานก่อสร้างในบางครั้ง มีงานติดตั้งเครื่องจักรเป็นงานส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถแยกทุนประกัน และขอบเขตการทำงานออกจากการก่อสร้างทั่วไปอย่างเด่นชัดเพราะความเสี่ยงส่วนใหญ่นั้นอยู่ที่การติดตั้งเครื่องจักรมากกว่างานโครงสร้างพื้นฐานอาคารทั่วไป ดังนั้นกรมธรรม์การติดตั้งเครื่องจักรจึงถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับงาน โดยให้ความคุ้มครองความเสี่ยงต่อเครื่องจักร อุปกรณ์ ที่ติดตั้ง เครื่องจักรอุปกรณ์ของผู้รับเหมาที่นำมาใช้ระหว่างติดตั้ง และความเสียหายต่อบุคคลภายนอกไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือทรัพย์สินเสียหาย กรมธรรม์การติดตั้งเครื่องจักรนี้สามารถขยายความคุ้มครองถึงความเสียหายต่อเนื่องจากโครงการล่าช้า (Delay in Start Up) ที่เกิดขึ้นจากความเสียหายระหว่างการติดตั้ง ซึ่งผู้เอาประกันภัยสามารถได้รับการชดเชยถึงรายได้ในช่วงที่ไม่สามารถเปิดดำเนินการตามแผนที่ตั้งไว้ การซื้อกรมธรรม์ประเภทนี้ ผู้รับเหมาสามารถนำผู้รับเหมาย่อยทุกราย และ/หรือผู้ว่าจ้าง และ/หรือ ผู้ผลิตสินค้า รวมเป็นผู้เอาประกันภัยด้วยกันได้

บางบริษัทประกันภัยอาจรวมกรมธรรม์ความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมา กับกรมธรรม์การติดตั้งเครื่องจักรนี้เป็นฉบับเดียวกัน แต่ทั้งนี้อาจระบุ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางประการในการออกกรมธรรม์ตามความเหมาะสม

การประกันภัยเครื่องจักรชำรุด  

ในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินทั่วไป (All Risks) ได้ถูกออกแบบให้คุ้มครองทรัพย์สินต่างๆรวมถึงเครื่องจักรจากความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ หรืออุบัติเหตุที่เกิดจากปัจจัยภายนอกเท่านั้น ดังนั้นการที่เครื่องจักรหยุดชะงักที่เป็นสาเหตุจากการทำงานภายในของตัวเองจึงเป็นข้อยกเว้นที่ระบุไว้อย่างชัดเจน

กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรหยุดชะงักจึงเป็นกรมธรรม์ที่ออกแบบมาให้คุ้มครองการหยุดชะงักการทำงานของเครื่องจักรต่างๆไม่ว่าจะเป็น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หม้อแรงดันไอน้ำ หม้อแปลงไฟฟ้า ปั๊มลม รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตต่างๆ เครื่องมือ อุปกรณ์ ส่วนควบ ฯลฯ

โดยกรมธรรม์จะให้ความคุ้มครองถึงความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ ที่เป็นสาเหตุจากภายใน ของเครื่องจักรและไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เช่น การหล่อและการใช้วัสดุที่มีคุณภาพไม่สมบูรณ์ ความบกพร่องด้านการฝีมือ การขาดความชำนาญ หรือเนื่องมาจากเหตุแห่งความประมาทเลินเล่อ การกลั่นแกล้ง การขาดน้ำในหม้อน้ำ การระเบิดในทางฟิสิกส์ การแยกจากกันด้วยกำลังเหวี่ยงจากศูนย์ถ่วงความเสียหายเนื่องจากอุปกรณ์ชำรุด ความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากการหมดอายุการรับประกันของผู้ผลิต การใช้งานผิดพลาด โดยมิได้ตั้งใจของผู้ปฏิบัติ ควบคุมเครื่อง การบกพร่องของระบบหล่อเลื่อน ระบบหล่อเย็น ไฟฟ้าลัดวงจร การเดินเครื่องเกินกำลัง เป็นต้น

หลักการชดใช้ของกรมธรรม์

การชดใช้ภายใต้กรมธรรม์เครื่องจักรหยุดชะงักนี้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือความเสียหายบางส่วน (Partial Loss) และความเสียหายทั้งหมด (Total Loss)

ในกรณีที่เกิดความเสียหายบางส่วน (Partial Loss) บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้เป็นค่าซ่อมชดเชยในราคาที่แท้จริงในราคาใหม่แทนเก่า (Replacement Value) หากความเสียหายไม่อาจซ่อมได้ต้องชดใช้ทั้งเครื่องจักรนั้นๆ(Total Loss) บริษัทประกันภัยจะใช้หลักการประเมินราคาโดยใช้ราคาที่แท้จริง (Actual Value) โดยคำนวณราคาหักค่าเสื่อม

ข้อยกเว้นหลัก

ตัวอย่างภัยที่เป็นข้อยกเว้นหลักในกรมธรรม์มีดังนี้

  • ไฟไหม้, ฟ้าผ่า, การระเบิด, โจรกรรม หรือลักทรัพย์
  • น้ำท่วม แผ่นดินไหว การเลื่อน เคลื่อนตัวของดิน การชนของยานพาหนะต่างๆ
  • การเสื่อมสภาพด้วยตัวเอง การเป็นสนิม ผุพัง กัดเชาะ
  • สงคราม การจลาจล นัดหยุดงาน ประท้วง
  • การจงใจกระทำให้เกิดความเสียหาย การประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
  • ความเสียหายที่เกิดก่อนหรือหลังกรมธรรม์มีผลคุ้มครอง
  • ความเสียหายที่อยู่ในระหว่างเครื่องจักรได้รับการรับประกันจากผู้ผลิต
  • นิวเคลียร์ การแผ่รังสี

การประกันภัยการสูญเสียรายได้  

Advance Loss of Profit (ALOP) เป็นกรมธรรม์ที่เป็นผลต่อเนื่องจากกรมธรรม์การก่อสร้าง หรือติดตั้งเครื่องจักรซึ่งเกิดมีความเสียหายเกิดขึ้นและส่งผลกระทบถึงโครงการทำให้ไม่สามารถเปิดดำเนินงานได้ตามเวลา ส่งกระทบต่อ รายได้ที่คาดว่าจะได้รับจากการเปิดดำเนินงานของเจ้าของโครงการที่ต้องเลื่อนออกไป, เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยที่ต้องชดใช้สถาบันการเงินโดยไม่มีรายรับมาสนับสนุน, การล่าช้าในการจ่ายค่างวดผู้รับเหมาเพราะไม่สามารถส่งมอบงานในเวลาได้, ฯลฯ เหล่านี้จึงมีผลกระทบอย่างมากกับทุกฝ่าย

ดังนั้นกรมธรรม์การประกันภัยความล่าช้าของโครงการเนื่องจากการก่อสร้าง หรือติดตั้งเครื่องจักรจึงมีบทบาทสำคัญในโครงการใหญ่ๆโดยสามารถนำรายได้ที่คาดว่าจะรับมาคำนวณเป็นทุนประกัน และระยะเวลาที่คาดว่าจะเกิดการล่าช้าที่สุดของโครงการมาเป็นระยะเวลาชดใช้ของกรมธรรม์

สิ่งที่สำคัญการพิจารณาก่อนซื้อประกันภัยประเภทนี้คือ

  • โดยทั่วไป เจ้าของโครงการหรือสถาบันการเงินเท่านั้นจะสามารถเป็นผู้เอาประกันภัยได้
  • การคำนวณวงเงินที่เอาประกันภัยจะต้องคำนวณจากรายได้ที่คาดว่าจะได้รับในระยะเวลาที่โครงการที่อาจล่าช้าออกไป ใม่ใช่วงเงินที่ใช้ในการก่อสร้าง
  • ค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายที่ต้องชดใช้ตามสัญญา ไม่สามารถนำมาทำประกันภัยได้
  • ระยะเวลาชดใช้ จะคำนวณจากวันที่คาดว่าจะได้รับมอบโครงการตามกำหนด ไม่ใช่จากวันที่เกิดความเสียหายของงานก่อสร้างหรือติดตั้งเครื่องจักร
  • ให้คำนึงถึงลักษณะธุรกิจและสภาพทางการตลาด ณ วันที่ควรจะได้รับมอบโครงการ ในกรณีที่ใช้เวลาการก่อสร้างระยะยาว
  • ควรคำนึงถึงที่ปรึกษาทางการบัญชี หรือวิศวกรรมไว้ก่อน หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจะทำให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ และสามารถได้รับค่าสินไหมทดแทนได้เร็วขึ้น

การประกันภัยเครื่องอัดแรงดัน หรือหม้อไอน้ำ  

เป็นกรมธรรม์ที่ออกแบบมาเพื่อให้ความคุ้มครองกับอุปกรณ์ แรงดังสูงอย่างหม้อกำเนิดไอน้ำและถังอัดความดัน ซึ่งจะชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับหม้อกำเนิดไอน้ำและถังอัดความดันและทรัพย์สินอื่นๆ รวมถึงความรับผิดตามกฎหมายที่ผู้เอาประกันภัยอาจจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผลทางตรงหรือทางอ้อมของการระเบิดหรือทรุดตัวของหม้อกำเนิดไอน้ำและถังอัดความดัน

ในกรมธรรม์มาตราฐานได้แบ่งความคุ้มครองออกเป็น 3 ส่วนซึ่งผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อได้

  • ส่วนที่ 1
    ความเสียหายที่เกิดกับหม้อกำเนิดไอน้ำและถังอัดความดันเอง ในการระเบิดหรือยุบตัว
  • ส่วนที่ 2
    ความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินอื่นๆของผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากการระเบิดหรือยุบตัวของหม้อกำเนิดไอน้ำและถังอัดความดัน
  • ส่วนที่ 3
    ความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ที่ได้รับความเสียหายจากการระเบิดหรือยุบตัวของหม้อกำเนิดไอน้ำและถังอัดความดัน

การประกันภัยเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง  

ให้ความคุ้มครองถึงเครื่องจักรหนักที่มูลค่าสูงที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น เครน, เครื่องขุด, เจาะ, เครื่องลำเรียง, บรรจุ, เครื่องที่ใช้ในการตอก, เจาะเสาเข็ม, ฯลฯ ที่จะชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ ที่มีผลจากปัจจัยภายนอก หรือภัยธรรมชาติต่างๆ ที่มิได้ระบุเป็นข้อยกเว้นในกรมธรรม์ โดยให้ความคุ้มครองก็ต่อเมื่อเครื่องจักรเหล่านั้นได้เคลื่อนย้าย พร้อมประกอบและติดตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคุ้มครองไม่ว่าจะในขณะที่ใช้งานอยู่ ในขณะพักการใช้งาน ในขณะถูกถอดชิ้นส่วน เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำความสะอาด ตรวจสอบ ซ่อมแซม

ทุนประกันภัย ควรใช้ราคาทดแทนใหม่ (Replacement Value) และสามารถขยายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ค่าขนส่ง ค่าแรงงานในการติดตั้งใหม่ ค่าภาษี อากร (ถ้ามี)

ข้อยกเว้น
ตัวอย่างภัยที่เป็นข้อยกเว้นหลักในกรมธรรม์มีดังนี้

  • การหยุดชะงักของเครื่องจักรที่มีผลจากภายใน เช่น ไฟลัดวงจร
  • การเสื่อมสภาพด้วยตัวเอง การเป็นสนิม ผุพัง กัดเชาะ
  • การจงใจกระทำให้เกิดความเสียหาย การประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
  • การออกแบบผิดพลาด
  • ความเสียหายเนื่องจากผิดสัญญา
  • ความเสียหายต่อเนื่องทางธุรกิจ
  • ความเสียหายที่อยู่ในระหว่างเครื่องจักรได้รับการรับประกันจากผู้ผลิต
  • สงคราม นิวเคลียร์ การแผ่รังสี

การประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์  

เป็นกรมธรรม์ออกแบบให้ความคุ้มครองสำหรับการสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ เครื่องมือ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ เครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆในขณะที่ใช้งานอยู่ ในขณะพักการใช้งาน ในขณะถูกถอดชิ้นส่วน ในขณะทำการเคลื่อนย้าย ในขณะทำการติดตั้งใหม่ เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำความสะอาด ตรวจสอบ ซ่อมแซม หรือ ติดตั้งใหม่ในสถานที่อื่น

โดยกรมธรรม์แบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อได้

ส่วนที่ 1
ความสูญเสียหรือเสียหายที่เกิดกับตัวอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ คอมพิวเตอร์เอง

ส่วนที่ 2
อุปกรณ์การบันทึกข้อมูล และค่าใช้จ่ายในการเก็บกู้ข้อมูล การสร้างข้อมูลต่างๆ ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการเสียหายของตัวเครื่องในส่วนที่ 1

ส่วนที่ 3
ค่าใช้จ่ายการทำงาน แรงงานเพิ่มเติม พิเศษเพื่อให้กลับมาปฏิบัติงานได้ปรกติ

ตัวอย่างข้อยกเว้นหลัก

  • สงคราม อาวุธนิวเคลียร์
  • การจงใจกระทำให้เกิดความเสียหาย
  • การปล่อยให้ทรัพย์สินไม่มีผู้ดูแล หรือหยุดทำงานเป็นระยะเวลานาน
  • ความเสื่อมสภาพด้วยตัวเอง
  • การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และสภาพอากาศ
  • การออกแบบผิดพลาด
  • ความเสียหายเนื่องจากผิดสัญญา
  • ความเสียหายต่อเนื่องทางธุรกิจ
  • การใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสม หรือปฏิบัติงานที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง


    บริษัทแชมป์ อินชัวร์ โบรคเกอร์
    สำนักงานใหญ่ 6/107 ซอย บรมราชชนนี 74
    แขวง ศาลาธรรมสพน์     เขต ทวีวัฒนา
     กรุงเทพมหานคร 10170

    เบอร์โทรศัพท์ (02) 888 6540-1
    เบอร์โทรสาร (02) 888 6542
    อีเมล support@champinsure.com

   © All rights reserved. : Champ Insure Broker .


Line ID:@champinsure


   Dashboard Administrator